วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ทุนและทุนทางสังคม (วิชาเอก ทุนทางสังคม)

บทที่ 1
แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ
ทุนและทุนทางสังคม

1.      บทนำ
ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรม (Agricultural Economy) มาเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาในรูปแบบใหม่ๆ จึงได้มีการหันมาใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อปริมาณ (Mass Production) การบริโภคที่เกินความต้องการ หรือการจำหน่ายจ่ายแจกเพื่อสร้างรายได้ ตลอดจนการลงทุนที่เข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยม (Capitalism) มากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ในโลกก็หันมาเน้นการพัฒนาในแบบเดียวกัน อย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส  และสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ โดยกระตุ้นและเร่งกระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงได้กลายเป็นศูนย์อำนาจและศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลต่อสังคมโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั่วโลกภายในพริบตาอย่างไร้พรมแดน (บัญชา พุฒิวนากุล, 2556:18)  ที่เคยคุ้นชินกันในภาษาอังกฤษว่า Globalization หรือว่า “โลกาภิวัตน์” ก่อให้เกิดการเลื่อนไหลของเรื่องราวต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคม วัฒนธรรม อินเตอร์เน็ต ข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยี การบริการได้อย่างเสรี ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า สังคมมนุษย์ยุคนี้ได้ก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ และความเสื่อมควบคู่กันไปด้วย
 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจและบริการได้กลายเป็นทุนที่สร้างความมั่นคั่ง ร่ำรวย และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในพัฒนาคุณภาพชีวิตและผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งประชาชาติ ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ ของโลกพยายามถีบตัวให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น จึงได้ถูกจัดแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มประเทศที่พัฒนา (Old Industrial Countries: OICs)  ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่ 1 ที่มีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (under develop หรือ Developing) จึงมีสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างล้าหลัง อย่างไรก็ตามต่างก็พยายามพัฒนาสังคมของตนเองให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Industrial Countries: NICs)  โดยอาศัยการผลิตและการดึงนักลงทุนจากภายนอกโดยเฉพาะแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศที่มีอุตสาหกรรมใหญ่ดังกล่าว  โดยแลกกับการให้สัมปทานหรือนำมาให้ใช้สิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุที่มีอยู่เพื่อที่ประเทศจะได้ก้าวตามทันเขา ซึ่งทรัพยากรที่อยู่ในประเทศล้วนแต่เป็นทุนดั้งเดิมอันอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่สังคมจะยังอาศัยภาคเกษตรกรรมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกควรคุมด้วยกลุ่มทุนเหล่านั้น
  โดยปกติทั่วไปแล้ว ความเข้าใจคำว่า “ทุน” ที่ถูกนำมาใช้ส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายในเชิงที่เป็นเงินลงทุนทางธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการ  ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันการเคลื่อนตัวของทุนในกระแสทุนนิยมได้ถูกกระทำอย่างเข้มข้น จึงถูกทำให้ทุนในความหมายอื่นมีความอ่อนตัวหรือมีความสำคัญน้อยลง  ซึ่งการทำความเข้าใจความหมายของทุนในมิติอื่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทุนในหลากมิติกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติสู่ความเจริญที่แท้จริง อาจจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่างๆ ที่เคยยึดการพัฒนาแบบภาวะทันสมัยและการพึ่งพาโลกที่ 1 ประสบความล้มเหลวลง จึงได้หันกลับมามอง (ลำแข้งของตนเอง) ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละด้านที่เป็นสิ่งดีๆ จึงเรียกว่า “ทุนทางสังคม”  เช่น คน เงิน ความรู้ เทคโนโลยี วัฒนธรรม สินค้าและบริการ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นทุนทางสังคมทั้งสิ้น

2.      กรอบแนวความคิดเบื้องต้นและพัฒนาการของทุน
คำว่า “ทุน” (Capital)  นักวิชาการได้ให้ความหมายไว้มากมาย ทั้งที่สอดคล้องและแตกต่างกันไป แต่ทว่าในแวดวงนักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ได้ให้ความหมายของคำว่า “ทุน” ได้ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับทุนในความหมายเชิงเศรษฐศาสตร์ ในอดีตเป็นสิ่งซึ่งมีคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Exchange) ระหว่างกัน แทนการใช้สิ่งของวัตถุที่เป็นเงินตราเสียส่วนใหญ่ ทุนได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ และอารยธรรมของสังคมมนุษย์มาช้านานแล้ว เหตุผลหนึ่ง เกิดจากการอุปโภคบริโภค ติดต่อ สื่อสาร  โดยหลักฐานที่ค้นพบอาจมาจากคำบันทึกในอารยธรรมกรีก และจีนสมัยโบราณ โดยอ้างจากคำกล่าวของปิธากอรัส  เมื่อประมาณ 3,500 ปีก่อน ค.. ถึง ค.. 476 ได้บรรยายสภาพสังคมของชาวกรีกที่มาร่วมชุมนุมในงานโอลิมปิกว่า บางกลุ่มจะเป็นพวกแสวงหาประโยชน์ โดยการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าในบริเวณงาน (วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์, 2548: อ้างแล้ว)  ซึ่งลักษณะกิจกรรมที่มีการซื้อขายกัน อีกเหตุการณ์หนึ่งในช่วงสงครามครูเสดระหว่างการทำสงครามก็มีการค้าขาย ทำให้พ่อค้าเกิดกลายเป็นนายทุนที่สร้างความร่ำรวยให้กับอาณาจักร ซึ่งทุนในความหมายของจีนโบราณ สมัยราชวงค์เซียง ได้มีการประดิษฐ์อักษรจีนถือเป็นทุนทางสังคม และอาจหมายถึงสิ่งที่มีอยู่เดิมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นั่นคือ ความรู้ความสามารถ อาจหมายรวมไปถึงทรัพย์สิน เงินทองอีกด้วย (วรวุฒิ, 2548: อ้างแล้ว) สำหรับปัจจุบัน ทุน มีคนให้ความหมายที่หลากหลาย จึงออกมาในลักษณะของการจัดการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญด้วย โดยมีนักวิชาการดังนี้
          Adam Smith (ค.. 1723-1790)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ เชื้อสายสก๊อตแลนด์ได้เขียนหนังสือ “Wealth of the Nation” (ใช้เวลาในการเรียบเรียง 5 ปี) มองสังคมในแง่ตลาด ประกอบด้วยปัจเจกชนที่มีแรงจูงใจผลิตขายและซื้อสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนเอง ดังนั้น ทุน คือสิ่งที่มีมูลค่าเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ (วิทยากร เชียงกูล, 2548:121) โดยมองว่าสังคมหนึ่งๆ ประกอบด้วย
1.       เครื่องมือ และเครื่องจักรในการประกอบการ
2.       สถานที่ อาคารที่เป็นที่ประกอบการ
3.       ความสามารถของประชาชนในความขยันประกอบการ
4.       ที่ดิน
5.       เงินตรา
6.       เสบียงอาหารในมือของผู้ผลิตและผู้จำหน่าย
7.       วัสดุหรือวัตถุดิบในการผลิต และซื้อขาย
8.       ความสำเร็จกำลังจะเกิดรายได้ (วรวุฒิ, 2548:อ้างแล้ว)
David Ricardo (ค.. 1772-1823)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษเชื้อสายยิวในเนเธอแลนด์ ผู้ที่เติบโตในวงการตลาดหุ้น ได้เขียนหนังสือ “The Principles of political Economy and Taxation” มีความสนใจเรื่องทุนที่ดินและค่าเช่า โดยมีความเชื่อว่า ค่าเช่าเป็นผลแห่งความกรุณาของธรรมชาติ บังคับให้ผู้ครอบครองหรือทำการเพาะปลูกในที่ดิน ต้องเสียค่าเช่าให้กับเจ้าของที่ดิน
Thomus Robert Malthus (ค.. 1766-1834)  นักเศรษฐศาสตร์และประชากรศาสตร์ เสนอทุนเป็นเรื่องสิ่งที่เป็นทรัพยากรที่ดินที่สร้างประโยชน์กับการควบคุมการเพิ่มของประชากร โดยเขียนบทความ “An Essay on the Principle of Population” การเพิ่มของประชากรมีผลต่อการผลิต และอาหารที่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณตามไปด้วย ซึ่งเกิดจากกฎว่าด้วย “ผลผลิตที่ลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Retuned)” เมื่อเพิ่มคน เพิ่มทุน เนื้อที่เท่าเดิม ผลผลิตที่ได้จะเป็นสัดส่วนลดน้อยลง ดังนั้น ควรควบคุมปริมาณการเพิ่มขึ้นของประชากร เพื่อสอดคล้องกับผลผลิตและอาหารด้วย
          Wayland (1837) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเมริกัน ได้เขียนหนังสือเรื่อง Elements of political Economy โดยให้ความหมายของคำว่า “ทุน” ที่ใช้กับสังคมมี 2 ความหมาย คือ 1 เกี่ยวกับผลิตผล หมายถึงวัตถุใดๆ ที่จะมีการใช้ความพยายามกระทำต่อวัตถุ  และ 2 ด้านอุตสาหกรรม หมายถึง วัสดุที่กำลังจะทำมีมูลค่าขึ้น เครื่องมือที่ทำให้เกิดมูลค่าขึ้นแก่สิ่งอื่นๆ เพื่ออำนวยแก่ความสะดวกให้ชีวิตประจำวัน
Karl Marx เป็นนักสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แนววิพากษ์ ชาวเยอรมนีผู้นำความคิดระบบทุนนิยม ในการศึกษาความสันพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน เป็นตัวสร้างความสันพันธ์ทางสังคม เพราะการที่นายทุนเป็นเจ้าของทุนกดขี่แรงงานเอาเปรียบค่าแรงที่เกิดขึ้นจาก”มูลค่าส่วนเกิน” ซึ่ง Karl Marx ได้แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ ทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลง และทุนที่เปลี่ยนแปลง
พิสมัย จารุจิตติพันธ์ (2525) มองว่า”ทุน”เป็นเครื่องที่ถูกผลิตขึ้น เพื่อนำไปใช้ ในการเพิ่มผลผลิตและมูลค่าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อไป เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นด้วยมนุษย์และจำแนกทุนออกเป็น 3 ประเภท คือ
1.      ทุนถาวร (fixed Capital) เครื่องมือหรือสิ่งทรัพย์บางทีมีความคงทุนถาวรเช่น โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ
2.      ทุนดำเนินงาน (working Capital)  เป็นทุนประเภทวัตถุดิบต่างๆที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างจากเดินได้โดยผ่านกระบวนการ กรรมวิธีของการผลิต ใช้แล้วสามารถนำมาทดแทนได้อีกอาจเรียกว่า”ทุนหมุนเวียน”Circulating Capital)
3.      ทุนสังคม (Social Capital) เป็นทุนที่มีลักษณะช่วยส่งเสริมให้ทุนข้อ 1และ 2 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์ (2545) ได้ให้ความหมายว่า ทุนหรือสินค้าเพื่อการลงทุน (Investment Goods) อาจกล่าวได้ว่า สิ่งต่อมาที่ก่อให้เกิดการผลิต อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆไม่ส่งจะเป็นการผลิตสินค้า การจำหน่ายแจกและบริการ แต่ในกระบวนการผลิต และการสะสมทุนเรียกว่า “การลงทุน” ซึ่งในทัศนะของชูศักดิ์แล้วการลงทุนนี้ มิได้หมายถึงเงิน ตามที่ได้เข้าใจกัน เพราะเงินเป็นเพียงสิ่งที่ช่วยในการผลิต ดังนั้นเงินไม่ได้นับทรัพยากรในทางเศรษฐกิจแต่เป็นการอำนวยความสะดวกแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์, 258: 12)
        นอกจากนี้ วรวุฒิ  โรมรัตนพันธ์ ได้แสดงทัศนะของสุชน หิญชีระนันทน์ที่ชี้ว่า ทุน เป็นนิรมัยจากความคิดที่มีอยู่เดิมก่อนแล้วว่า ทุนช่วยในการผลิตอย่างไร แทนที่จะกำหนดว่าทุน คืออะไร แล้วสังเกตดูว่าทุนทำหน้าที่อะไร โดยมีการกำหนดหน้าที่ไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น ทุน มีความหมายที่หลากหลายและการใช้ประโยชน์จากทุนที่ทำหน้าที่ต่อการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ และวรวุฒิ  โรมรัตนพันธ์ ได้สรุปว่า ทุนในความหมายของตนเอง จากการศึกษานักวิชาการต่างๆ ว่า มนุษย์รู้จัก “ทุน” มานาน แต่ทุนก็ถูกใช้ในความมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป บ้างก็ใช้แทนวัตถุสิ่งของเงินโดยมองทุนเป็นเรื่องมูลค่า บ้างก็ใช้แทนสิ่งที่เป็นนามโดยมองทุนเป็นเรื่องของคุณค่า เช่น จิตใจ ความดีงาม แต่คนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า”ทุน”มักจะมีความเข้าใจและนึกถึงเรื่องวัตถุสิ่งของทรัพย์สินเงินทองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ และกล่าวว่าทุนในมิติอื่นๆเช่น ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมีความกว้างมากขึ้นได้
จากการให้ความหมายของนักวิชาการข้างต้น จะเห็นได้ว่ามีการใช้ความหมายที่แตกต่างกันออกไปและใกล้เคียงกัน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ได้อธิบายไว้เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษาเบื้องต้นให้แก่ผู้สนใจ โดยทำความเข้าใจให้สอดคล้องกับงานที่ตัวเองได้ศึกษามากที่สุด  ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับ พิสมัย จารุจิตติพันธ์ และวรวุฒิ โรมรัตนพันธ์มากที่สุด โดยการได้อธิบายและจำแนกไว้ครอบคลุมที่สุด ดังนั้น ทุน น่าจะหมายถึง สิ่งที่มีอยู่เดิมและสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้คุณค่าและประโยชน์แก่สังคมโดยรวม ทั้งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรมของสิ่งนั้น

3. พัฒนาการของทุนทางสังคม
         คำว่า “ทุนทางสังคม” เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่อาจมิได้ใช้เรียกว่า ทุนทางสังคม แต่เป็นการเข้าใจว่าสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ร่วมกันในสังคม อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง สังคม และวัฒนธรรม ในประวัติศาสตร์โลกได้มีการผูกเกี่ยวโยงกับว่า ทุนทางสังคมน่าจะเกิดพร้อมกับประชาสังคม (ธีรยุทธ บุญมี, 2548)  โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 18-19 การเกิดขึ้นของชนชั้นทางสังคม นายทุน นายธนาคาร พ่อค้า อุตสาหกรรม ตลอดจนการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยมแบบการค้าและอุสาหกรรม อำนาจการเมืองได้เคลื่อนตัวมาสู่ชนชั้นเหล่านี้มากขึ้น ในช่วงนี้มีกลุ่มองค์กรพื้นที่เวทีใหญ่ เช่น solons shops Coffee Club การสังสรรค์ต่างๆ เคลื่อนตัวในทิศทางที่ “ก้าวหน้า” ในอเมริกันเกิดกระแสวิพากษ์ความล้มเหลวของประชาธิปไตยซึ่งกำลังแข่งตัว จำกัดหมู่เฉพาะชั้นนำนั้นเท่านั้น  ทำให้ไม่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนโดยทั่วไปได้ รัฐละเลยผลประโยชน์ของชนชั้นล่าง คนกลุ่มน้อย เป้าหมายของชนชั้นนำได้รับความสำคัญกว่ากลุ่มอื่นๆ อยู่เสมอ การวิพากษ์ทำให้เกิดข้อเสนอ โดยนักรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองที่มีความแตกต่างกันออกไป เช่น David Truman และ Robert Dahl (1950-1970)  เน้นว่า สังคม ควรมีความหลากหลายศูนย์อำนาจ และไม่มีศูนย์อำนาจใดมีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่ผู้เดียว ควรมีกลุ่มองค์กร สมาคม กลุ่มผลประโยชน์ (สถาบันต่างๆ รวมทั้งสถาบันศาสนา) เป็นพื้นฐานของสังคมหลายศูนย์ เพื่อดวงดุจอำนาจแสวงหาข้อยุติโดยสันตติวิธี งานในส่วนนี้เป็นความสนใจเรื่องพหุนิยม pluralism ที่เกิดขึ้นในอเมริกันในขณะนั้น เกิดการรวมกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ องค์กรประชาชน และ 1980 มีความเปลี่ยนครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเมืองโลก จึงเกิดความกระตือรือร้นในปัญหาประชาสังคม ทำให้นักสังคมวิทยาได้สะท้อนในงานเขียนมากมาย เช่น Sidney Verba, R.N. Bellah ในหนังสือ The broken Covenant: American Civil Religion in tine of trial (1975), Habits of the Heart (1985) และ Good Society (1991) กล่าวคือ ประเด็นของนักวิชาการต้องการสร้างความเป็นประชาธิปไตยและความทันสมัย จะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทางสังคมที่มีความหลากหลายของกลุ่มองค์กร เช่น กลุ่มองค์กรวัฒนธรรม ความเชื่อในวิถีชีวิต แต่ก็ควรต้องมีค่านิยม (Value) หรือคุณธรรมวัฒนะชาวหมู่วงร่วมกัน นักวิชาการเหล่านี้เรียกคุณธรรมนี้ Almond เรียกว่า Civil Culture ส่วน Bellah เรียกว่า ศาสนาพฤติกรรม/ศาสนาความเป็นวัฒนะหรือ Civil religion  หรือใช้คำเก่าที่นักคิดชาวตะวันตก คือ คุณธรรมวัฒนธรรม หรือ Civic virtue หรือคำใหม่ เริ่มเป็นที่นิยมและใช้กันมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ คือคำว่า “ทุนทางสังคม” (Social Capital) (ธีรยุทธ บุญมี, 2547: 140-141) ซึ่งคุณธรรมนี้ได้เน้นโดยนักทฤษฎีทางสังคมรุ่นแรกๆ เช่น Adam smith, Shaftesbury เป็นต้น
อีกกลุ่มหนึ่งเน้นแหล่งที่มาของค่านิยม คุณธรรมดังกล่าว เป็นผลจากความเชื่อ ความผูกพันร่วมกันในกลุ่ม มีความสมานฉันท์ (solidarity) หรือความผูกพัน วางใจ เป็นเครื่องชุมชนสูง ได้ปรากฏในกลุ่มศาสนากลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ เช่น Bellah มองว่ารากเหง้าศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ วัฒนธรรมขงจื้อ ส่วน James Coleman ในงานบุกเบิกทางความคิดเกี่ยวกับทุนทางสังคม (social capital)  ในงาน Achievement and Growth in Public and Catholic School (1985) เน้นความเป็นคริสต์นิกายคาทอลิกในการทำวิจัยส่งผลให้เกิดทุนทางสังคม เป็นปัจจัยสำคัญ เป็นความสำเร็จของบุคคลในการดำรงชีวิตร่วมกัน “ความคิดเรื่องทุนทางสังคม” เป็นเรื่องใหม่ และเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก แม้ความคิดนี้จะเชื่องโยงกับประชาสังคมอย่างน่าสนใจ คือ กลุ่มใดหรือสังคมใด มีทุนทางสังคมสูงที่จะส่งผลให้เกิดประชาสังคมเข้มแข็ง เอาการเอางาน รักษาผลประโยชน์ส่วนร่วม และต้านทานรัฐ/อิทธิพลของตลาดได้ดี การทำความเข้าใจทุนทานสังคมต้องขยายขอบเขตศึกษากว้างออกไปในหลายมิติ ซึ่งงานที่ยอมรับมากที่สุดของ Coleman เป็นงานชุดเป็นทุนทางสังคมที่ต่างชนชั้น สามารถมีความสันพันธ์กันแบบชดเชยทุนเศรษฐกิจ และทุนวัฒนธรรมที่ต่างกันได้ (Coleman 1998 และธีรยุทธ บุญมี, 247:143) และ     Robert Putnam เป็นผู้นำคนสำคัญในด้านทุนทางสังคมยุคปัจจุบันและเป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง โดยมีงานเขียนเด่นชื่อ Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy (1996) Belling Alone: The Collapse and Revival of American Community (2000) Who killed Civic American? (1996) และ The Distribution of Social Capital in American (1998) เป็นต้น
Putnam กล่าวถึงทุนทางสังคมว่า ทุนที่มีคุณค่าแก่สังคมจะต้องมีสถานะสำคัญอย่างน้อย 3 ด้าน กล่าวคือ เครือข่าย  ขนบจารีตประเพณี และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) จะทำให้สมาชิกสามารถทำงานได้บรรลุวัตถุบางอย่างได้ และเป็นบุคคลที่สำคัญในด้านการนำ “ทุนทางสังคม” มาอธิปรายคือ Hanifan (1920) ในงานเขียนชื่อว่า Rural School Community Centers ในการอธิบายสิ่งที่พบเห็นชีวิตประจำวันเกี่ยวกับสร้างภาพสังคมที่ดี (good will) มิตรภาพ (fellowship)  ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) และติดต่อสันพันธ์กัน

4.      ทุนทางสังคม: คำนิยาม
                ในการศึกษาทุนทางสังคม (Social Capital)  เป็นคำที่ถูกใช้เป็นฐานคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจที่ได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพสังคมไทยปัจจุบันประสบกับปัญหาอัตลักษณ์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องเร่งพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ให้ทันสมัยก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยเหตุนี้ทุนทางสังคมที่เรามีอยู่นั้นยังขาดการทำความเข้าใจขาดการสร้าง และบูรณาการ ดังนั้น การศึกษาการทำความเข้าใจความหมายทุนทางสังคมเบื้องต้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ความหมายมากมาย ผู้เขียนจะได้นำเสนอผลจากการศึกษาของนักวิชาการต่างๆ ที่ได้ให้ความหมายพอสังเขป ดังนี้
     Robert Putnam มีความสนใจเรื่องทุนทางสังคม โดยได้มีการทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตในการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศอีตาลี ได้ความหมายทุนทางสังคมว่า ความสัมพันธ์ภายในชุมชน ความมีน้ำใจ มีจิตสาธารณะ การรวมกลุ่ม ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของคนในชุมชน
     Coleman (1990) กล่าวว่า defined social capital as any aspect of social structure that creates value and facilitates the actions of the individuals within that social structure. และเป็นการสร้างทุนทางกายภาพ เช่น เครื่องมือวัตถุที่มีคุณค่า และเป็นทุนมนุษย์ที่มาจากการพัฒนาทักษะ และความสามารถของปัจเจกบุคคล ดังนั้นทุนทางสังคมก็คือ ความสัมพันธ์ในการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ท่ามกลางระหว่างคนกับเครื่องมือเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
     คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2548) ได้ให้ความหมายทุนทางสังคม หมายถึง พลังที่มีอยู่ในชุมชนและสังคม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนเพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันบนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจกัน สายใจความผูกพันและวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย โดยผ่านองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ทุน คือ ทุนมนุษย์ ทุนทางปัญญาและวัฒนธรรม ทุนที่เป็นสถาบันประกอบด้วย 3 สถาบันหลัก คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา และสถาบันครอบครัว สถาบันสำคัญในสังคม เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันทางการเมือง และองค์กรต่างๆ  เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ซึ่งในสถาบันเหล่านี้จะมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดพลังของชุมชน สังคม รวมไปถึงการออกกฎระเบียบสังคมทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ (คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2548:12-17)
     ธนาคารโลก ( World Bank)  ชี้ให้เห็นว่า ทุนทางสังคมเป็นการเพิ่มขึ้นของความยึดเหนี่ยวกันในสังคม สามารถที่จะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
                กองทุนเพื่อสังคม (SIF) ได้ให้ความหมายว่า ทุนของท้องถิ่น/ชุมชนเป็นทุนทางสังคมอย่างหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ฐานทรัพยากรธรรมชาติ และฐานวัฒนธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หลอมความคิด การหลอมจิตใจ และผนึกกำลัง ความมีทักษะในการจัดการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดจะส่งเสริมให้เกิดความความสมัครสามัคคี เอื้ออาทร ที่ทำให้คนมีความเสียสละในการทำงานร่วมกัน โดยการระดมความคิด ความรู้ สติปัญญา และความชำนาญที่มีอยู่ไปใช้ในการจัดการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน                
     ประเวศ วะสี (2542: 101) เป็นนักปราชญ์และราษฎรอาวุโส ชี้ให้เห็นว่า ทุนทางสังคมเป็นพลังทางสังคมในการแก้ปัญหาวิกฤตของสังคมได้  โดยให้ความหมายทุนทางสังคมว่า การที่คนมารวมกัน เอาความดีและเอาความรู้มารวมกัน เพื่อแก้ปัญหาของสังคม
                อัมรา สยามวาลา (2544)  มองทุนทางสังคมว่า เป็นนำการทรัพยากรของชุมชนในการแก้ไขปัญหา”  โดยมีทรัพยากรของชุมชนที่สำคัญที่สุด คือ สติปัญญาและความเอื้ออาทรต่อกัน ทุนทางสังคมก็นับเป็นมิติในรูปแบบของทรัพยากรของชุมชนอันประกอบด้วย เรื่องของค่านิยม ความเอื้ออาทรต่อกัน ตลอดจนเรื่องของสติปัญญาที่มีอยู่ในชุมชนที่สมควรนำออกมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคม (อัมรา สยามวาลา, 2544: 40) 
                อเนก นาคะบุตร (2545: 39)  กล่าวถึงทุนทางสังคมว่า เป็นคุณค่าดั่งเดิมที่สังคมไทยมีอยู่แล้ว ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นความมีน้ำใจ การแบ่งปันซึ่งกันและกัน ความเอื้ออาทรต่อกัน การเกาะเกี่ยวกันทางสังคม การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเครือข่ายต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรผสมผสาน เครือข่ายชาวบ้าน  เป็นต้น ทุนทางสังคมนี้ คือ พลังที่จะขับเคลื่อนชุมชนต่างๆ ให้มีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าและทุนทางสังคมให้กับชุมชนตนเองมากขึ้น มีความเท่าทันต่อปัญหาและมีความสามารถในการจัดการกับปัญหา และสามารถพึ่งพาตนเองได้
                อัมรา พงศาพิชญ์ (2543: 40-41) ได้ให้ความหมายทุนทางสังคม คือ ความสัมพันธ์ทางสังคมในแนวราบและแนวตั้ง ระหว่างบุคคล สถาบัน และ/หรือ องค์กรต่างๆ ทั้งในรูปปัจเจก กลุ่ม และเครือข่าย ทั้งค่านิยม บรรทัดฐานที่สังคมยึดถือ ซึ่งมีผลต่อวิถีการผลิตในระดับครอบครัว ชุมชน
                อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2541:41-43)  นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความหมายทุนทางสังคมว่า วิธีคิด และระบบความรู้ในการจัดการวิถีความเป็นชุมชน เช่น การจัดการทรัพยากร การจัดระบบความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ หรือมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยวิธีคิดเชิงซ้อน และเกี่ยวข้องกับเรื่องระบบความรู้/ภูมิปัญญา อีกทั้งต้องอาศัยกฎเกณฑ์มากำกับการใช้ความรู้นั้น ซึ่งอาจเป็นอยู่ในรูปของจารีต กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ทางสังคม พร้อมกันนั้นก็ต้องมีองค์กรที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเรื่องนั้นๆ เช่น การใช้ทรัพยากรต่างๆ การจัดการทุน  เป็นต้น
                นอกจากนี้ อานันท์ยังกล่าวถึง ทุนทางสังคมเดิมของสังคมไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้ความหมายในเรื่องต่างๆ คือ มิติทางวัฒนธรรม โดยมิติทางวัฒนธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ชุมชนพยายามจะรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะมีนัยสำคัญทางสังคมเพื่อประโยชน์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการปลูกจิตสำนึก หรือรักษาสำนึกของชุมชน และเครือข่ายของชุมชนที่ต้องสัมพันธ์กันในการดำรงชีวิต และมักเกี่ยวข้องกับฐานทรัพยากรที่ชุมชนต้องอ้างอิงอาศัย ไม่ว่าจะเป็น แม่น้ำ ลำคลอง ป่าต้นน้ำ ทะเล โดยจะเห็นได้จากมิติของความสัมพันธ์ผ่านงานบุญ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนให้รู้ว่าชีวิตเราที่อยู่มาได้ก็เพราะสำนึกในคุณค่าของทรัพยากรและรวมกันรักษา อีกทั้งยังมีความหมายในแง่ที่เป็นการยืนยันในคุณค่าหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมบางอย่าง เช่น กฎเกณฑ์ข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรส่วนรวมร่วมกัน เป็นต้น
วิทยากร เชียงกูล และ พรภิรมณ์ เอื่อมธรรม (2547:236)  ได้ให้ความหมายทุนทางสังคมว่า ทุนที่มาจากภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม วินัย ระเบียบ ประเพณีที่สังคมสั่งสมไว้ และอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งทุนที่เป็นตัวเงิน (Money Capital) เสมอไป ทุนทางสังคมนั้นยังรวมไปถึง เครือข่าย ความร่วมมือของมนุษย์ ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ขององค์กร ชุมชน ดังนั้นจึงมีความหมายที่กว้างขวาง และเป็นประโยชน์มากกว่าทุนมนุษย์ (Human Capital)  หรือทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) ที่อาจจะเป็นของปัจเจกชน
                จากการให้ความหมายของนักวิชาการหลายๆ ท่าน ผู้เขียนจึงสรุปว่า ทุนทางสังคม น่าจะหมายถึง ทุนประเภทต่างๆ ของชุมชนทั้งที่เป็นเงิน (Money) กองทุน (Fund) และไม่เป็นเงิน ได้แก่ ระบบคิดหรือวิธีคิดของคนในชุมชน/สังคม ที่ผ่านการสั่งสมสืบทอดวิธีการปฏิบัติและนำไปใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้ เช่น วิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิธีการ  สืบทอดทางภูมิปัญญาท้องถิ่น วิธีการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของคนผ่านจารีตประเพณีและสิ่งที่เป็นนามธรรม ได้แก่ ความเอื้ออาทรต่อกัน ความรัก ความสามัคคี ความเชื่อ ความศรัทธา ในสิ่งที่ชุมชนสร้างแรงยึดเหนี่ยวและเกาะเกี่ยวความเป็นชุมชนไว้ด้วยกัน ทำให้ชุมชนมีความเป็นตนเองอย่างมีเอกลักษณ์ มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้      



5. องค์ประกอบของทุนทางสังคม 
                ทุนทางสังคมเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ผ่านสิ่งที่เป็นนามและรูปธรรม โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2545:20) ดังนี้
     1. ทุนมนุษย์  คือ บุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้  สติปัญญา และทักษะ มีคุณธรรม มีวินัย  และ
ความรับผิดชอบ มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน บนพื้นฐานความรัก ความเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกัน มีจิตสาธารณะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการรวมกลุ่มกัน และสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างทำประโยชน์ให้ส่วนรวม
2. ทุนที่เป็นสถาบัน  ได้แก่  สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ศาสนา การเมือง  รวมทั้งการรวมตัวของกลุ่มเป็นองค์กรที่มีศรัทธา ความเชื่อมั่น และมีจิตสำนึกร่วมกัน มุ่งมั่นใจสิ่งเดียวกันเพื่อพัฒนาสังคม ชุมชนให้เข้มแข็ง  เช่น กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ  องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน สมาคมวิชาชีพ  ฯลฯ
     3. ทุนทางปัญญาและวัฒนธรรม คือ การนำความรู้จากตัวบุคคล ภูมิปัญญา ปราชญ์ท้องถิ่น จนเกิดเป็นกระบวนการนำไปพัฒนาเป็นจารีต ประเพณี วัฒนธรรม นำไปสู่การใช้ประโยชน์และความผูกพัน ความภาคภูมิใจในตนเอง ครอบคลุมถึงระบบคุณค่า เช่น คุณธรรม วินัย จิตสำนึกสาธารณะ  วัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น  แหล่งประวัติศาสตร์  โบราณคดี  ฯลฯ
       4. ทุนทรัพยากรธรรมชาติ เป็นทุนอยู่ชุมชน ท้องถิ่น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ป่าไม้ น้ำตก ถ้ำ ของป่า ผลผลิตทางการเกษตร ทรัพยากรทั้งหลายที่มีอยู่ในชุมชน ท้องถิ่น ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความผูกพันร่วมกัน เชื่อมสัมพันธ์เป็นกลุ่ม องค์กร เครือข่ายร่วมกันในการแก้ไขปัญหาชุมชน เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา หรือเกษตรเชิงอนุรักษ์ เพื่อจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือเชิงนิเวศ เกิดร้านค้า รายได้ร่วมกันในชุมชน และมีการพึ่งพากันและกัน
                   






เอกสารอ้างอิง
ฉัตรทิตย์ นาถสุภา และคณะ.(2541). ทฤษฎีและแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนชาวนา. บริษัท อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด(มหาชน), กรุงเทพฯ
ชัยอนันต์ สมุทรวณิช. (2540) วัฒนธรรมคือทุน. บริษัทสุขุมและบุตรจำกัด, กรุงเทพฯ.
บัญชา พุฒิวนากุล. (2556). เรื่องประวัติศาสตร์และอารยธรรมโลก ในกลุ่มวิถีโลก วิถีโลก เอกสารประกอบการสอน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม. มหาสารคาม: สารคามการพิมพ์.
พิสมัย จารุจิตติพันธ์. (2525) หลักเศรษฐศาสตร์. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ, กรุงเทพฯ.
มณีมัย ทองอยู่. (2546) การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจชาวนาอีสาน. บริษัท สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ จำกัด, กรุงเทพฯ.
รังสรรค์ ธนพรพันธ์. (2535) ทุนทางวัฒนธรรม. มูลนิธิไชย้ง ลิ้มทองกุล, กรุงเทพฯ.
รังสรรค์ ธนพรพันธ์. (2546) ทุนทางวัฒนธรรม: วัฒนธรรมในระบบทุนนิยมโลกเล่ม 1-2. สำนักพิมพ์มติชน, กรุงเทพฯ.
วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์. (2548) ทุนทางสังคม. โรงพิมพ์เดือนตุลา, กรุงเทพฯ
วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์. (มปป.) ทุนทางสังคม กระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ
วรวุฒิ โรมรัตนพันธ์ และคณะ. (2548) โครงการศึกษาทุนทางสังคมในฐานะปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจ ชุมชน ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก สกว. โรงพิมพ์เดือนตุลา; กรุงเทพฯ
วิทยากร เชียงกูล. (2548). ปรัชญาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร.
วิมล จิรโรจพันธ์ และคณะ (2551) มรดกทางวัฒนธรรม “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”. สำนักพิมพ์แสงดาว, กรุงเทพฯ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). (2547) วาทกรรมอัตลักษณ์. โอ.เอส. พริ้นติ้งเฮาส์, กรุงเทพฯ
ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการ (2541) วัฒนธรรมปลาแดก เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ. อร่ามการพิมพ์, สกลนคร
สุรพล ดำรห์กุล. (2540) บ้านเชียงมรดกทางวัฒนธรรม. โรงพิมพ์คุรุสภา กรุงเทพฯ.
อเนก นาคะบุตร. (2545) ทุนทางสังคมและประชาสังคมในเมืองไทย. บริษัท เซจูรี่ จำกัด, กรุงเทพฯ
อานันท์ กาญจนพันธ์. (2541) การระดุมทุนเพื่อสังคม. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, กรุงเทพฯ.

Coleman J. Citted in Fuguyama F. Social Capital and Civil Society. Prepared for delivery at the IMF Conference on Second Generation Reforms.<online>.Available: http//www.imf.org/external/pubs/seminsr/1999/refromes/fuguyama.html. (10/10/2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น